โครงการการขยายผล ต่อยอด การจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีหลังการใช้งาน ขยะไม่ติดเชื้อสู่วัสดุรีไซเคิล
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ได้มีการจัดงานโครงการการขยายผล ต่อยอด การจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีหลังการใช้งาน ขยะไม่ติดเชื้อสู่วัสดุรีไซเคิล ภายใต้แนวคิด ลดมลพิษ ลดโลกร้อน สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อความยั่งยืน โดยมี รศ. ดร.ทวิดา กลมเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครฯ และ ศ. ดร. ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณไพศาล หล่อพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการสมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. นายแพทย์สุรชัย ภูพิพัฒน์ผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ คุณอานันท์ อาชวกุลเทพ ประธานบริษัท MPI คุณชนัมภ์ ชวนิชย์ ประธานบริษัทรีไซเคิลเดย์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข)
ทั้งนี้ในงานยังมีคุณปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ และพี่ก้อง คุณสหรัถ สังคปรีชา ร่วม live ด้วย
มูลนิธิคุณ (KHUN Foundation) และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Ppc) เป็นกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ที่ผ่านมาทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนาแนวทาง zero waste ให้กับบุคลากรของจุฬา และยังจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครองในการแยกขยะให้ถูกต้อง ในกิจกรรมวันเด็กเดือนมกราคม 2566 ผ่านการแสดงหุ่นเชิด Puppet Show เรื่อง “วาฬน้อยท้องผูก” ที่มีปลาวาฬดูดู (DoDo) เป็นตัวละครหลัก และมีเพื่อน ๆ หุ่นเชิดอีกหลายตัว เช่น หมาจร (KhunKhun) ลุงนกฮูก (Boppa) มาร่วมสร้างความสนุกสนานผ่านการเชิดหุ่นและผ่านวิดีโอ Clip ที่ทำขึ้นมาเป็นเรื่องราวสอนเด็ก ๆ ในตอนต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ในแต่ละตอน และที่สำคัญมีดารา ศิลปินมาร่วมให้ความรู้บนเวทีเสวนาด้านสิ่งแวดล้อมในวันงานด้วน เช่น พี่ก้อง สหรัถ และภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน เรียกเสียงกรี๊ดสนั่นงานวันเด็กที่พิพิธภัณฑ์เด็ก
ที่ผ่านมา จะเห็นภาพข่าวกิจกรรมดี ๆ ของมูลนิธิคุณต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับคณะสังคมศาสตร์ มศว และสมาคมศิษย์เก่าสาธิตปทุมวัน ในกิจกรรม Puppet Roadshow 4 ภาค ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน และที่จังหวัดเชียงราย
โครงการการจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซี หลังจากการใช้งานนี้เป็นการสรุปผลงานนำร่อง เพื่อการขยายผลสู่โรงพยาบาลในเครือข่ายกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลอื่น ๆ ยังมีการนำเสนอผลงานของมูลนิธิคุณที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจการรักษ์โลกจากพี่ก้อง สหรัถ ตามด้วยเสวนา และกิจกรรม World Café เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็น และข้อกังวลจากกระบวนการการจัดการวัสดุทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซี หลังการใช้งานแล้ว เช่นท่อ วงกบ สายเคเบิล กระเบื้องปูพื้น แผ่นปิดพื้น รองเท้า และสายยาง เนื่องจากคุณสมบัติที่เหมาะสมโดยธรรมชาติของพีวีซีที่มีอัตราส่วนความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูง ไม่เป็นสนิม ทนทานต่อสารเคมี และมีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ ส่งผลให้ปัจจุบันพีวีซีจึงเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น สายน้ำเกลือ สายออกซิเจน หน้ากากออกซิเจน ถุงน้ำเกลือ เป็นต้น
ศ. ดร. ปราโมช รังสรรค์วิจิตร กล่าวว่า “จากการระดมสมองของผู้ร่วมกิจกรรมในงาน แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลหลายประการเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของการกำจัดขยะหลังจากการบริโภคผลิตภัณฑ์พีวีซีในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งขยะจากโรงพยาบาลถือได้ว่าเป็นขยะมูลฝอยที่มีความแตกต่างจากขยะทั่วไปในชุมชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพสังคม สภาวะสุขภาพในปัจจุบัน ที่มีภาวะอัตราการเจ็บป่วย โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง”
ดร.ปราโมช ยังกล่าวอีกว่า “การบริหารจัดการขยะในโรงพยาบาลเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ การส่งไปยังหลุมฝังกลบ หรือแม้แต่การจัดการที่ไม่ถูกหลักทางมาตรฐานอาจก่อให้เกิดสารที่เป็นอันตรายและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ”
ในส่วนของ ผศ. ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการฯได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะจากวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกจัดการโดยการเผาและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะประเภทดังกล่าว “ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้เกิดโครงการนี้ มาจากแนวคิดที่ว่า วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซี ซึ่งเมื่อใช้งานแล้วจะถูกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ทั้งๆ ที่มีบางส่วนเป็นขยะไม่ติดเชื้อเนื่องจากไม่ได้สัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือปนเปื้อนเชื้อโรค จึงควรสามารถนำส่วนที่ไม่ปนเปื้อนมารีไซเคิลได้ จึงได้มีแนวคิดในการนำวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีส่วนที่ไม่ติดเชื้อมารีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการการใช้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ด้วยกระบวนการรีไซเคิล (recycle) เพื่อเพิ่มมูลค่ากับวัสดุหลังการใช้งานเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เช่น ม่านกั้นห้องผู้ป่วย ถุงห่อศพ เสื้อกันฝน ผ้ากันเปื้อน ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น”
ด้านคุณปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต จากมูลนิธิคุณกล่าวว่า “ความร่วมมือและการขยายเครือข่าย จากหลายหน่วยงานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ตลอดจนอุตสาหกรรมปลายน้ำ ทั้งผู้ผลิตพีวีซี ผู้รวบรวม รวมไปถึงมูลนิธิคุณในการช่วยประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลทั่วไป เป็นความร่วมมือที่ควรจะทำให้เป็นระยะยาว และหากยิ่งขยายเครือข่ายได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้ผลสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมได้มากเท่านั้น”
ในขณะที่ก้อง สหรัถ สังคปรีชา ที่คอยช่วยกิจกรรมรักษ์โลกกับมูลนิธิคุณมาโดยตลอด กล่าวเสริมว่า “อยากให้หน่วยงานรัฐและเอกชนตั้งใจจริงจังกับการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง เป็นแผนงานที่จริงจัง เพราะขยะไม่ใช่เรื่องขยะอีกต่อไป และกล่าวว่าตนในฐานะศิลปินที่มีแฟนคลับและพี่น้องสื่อมวลชนคอยให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ตนเองร่วมช่วยกิจกรรมของมูลนิธิคุณมาโดยตลอด พร้อมที่จะเป็นตัวแทนของทุกคนในการร่วมรณรงค์ให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะผ่านเสียงเพลง หรือการเสวนาที่พร้อมจะทำไปตลอดกับมูลนิธิคุณ” โดยก้อง สหรัถ ยังฝากโครงการจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซี หลังจากการใช้งานขยะไม่ติดเชื้อ สู่วัสดุรีไซเคิล ภายใต้แนวคิด ลดมลพิษ ลดโลกร้อน สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อความยั่งยืน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล และมูลนิธิคุณ นี้ว่าถ้าสามารถขยายไปโรงพยาบาลทุกแห่งได้จริง และมีหน่วยงานรัฐจริงจังกับโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้ พี่ก้องบอกว่าที่พี่ก้องมาร่วมงานโครงการในงานจริงวันนี้ไม่ได้ เพราะกำลังเดินทางไปกับมูลนิธิคุณเดินหน้าทำงานไม่หยุด กำลังนั่งรถไปที่หาดบ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ จัดกิจกรรม Road Show 4 ภาค ต่อเนื่อง เป็นภาคที่ 3 ซึ่งในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 มีจัดกิจกรรมสอนเด็กแยกขยะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องครั้งที่ 3 ของปี 2566 นี้ โดยในงานยังมีการเสวนา การทำกิจกรรม CSR เก็บขยะชายหาดเพื่อรณรงค์ไม่ให้ทิ้งขยะริมชายหาด ร่วมกับหน่วยงานของเทศบาลบ้านกรูด และตัวแทนคุณครูจากโรงเรียนต่างๆ และปิดท้ายกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่โดยการแสดงดนตรีจากวงนูโวริมหาด ซึ่งเป็นงานกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของประชาชนจากแต่ละที่ที่มีใจรักสิ่งแวดล้อม แต่กลับกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่